วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช
สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานหลักเมือง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสร้างสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับภาคเอกชนก่อสร้างศาลขึ้นบนที่ดินราชพัสดุ บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง เนื้อที่ 2 ไร่ ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมือง ออกแบบให้มีลักษณะ คล้ายศิลปะศรีวิชัย เรียกว่าทรงเหมราชลีลา วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2532 ส่วนอาคารเล็กทั้งสี่หลัง ถือเป็นบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วยพระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง ศาลพระพรหมเมือง และศาลพรบันดาลเมือง วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2542
องค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ตะเคียนทองที่ได้มาจากภูเขายอดเหลือง อันเป็นภูเขาลูกหนึ่งในทิวเขานครศรีธรรมราช ในท้องที่ตำบลกระหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดความสูง 2.94 เมตร เส้นรอบวง 0.95 เมตร ลวดลายที่แกะสลัก ตั้งแต่ฐานซึ่งเป็นวงรอบเก้าชั้น มี 9 ลาย ส่วนบนของเสาเป็นรูปจตุคามรามเทพ (สี่พักตร์) หรือเทวดารักษาเมือง เหนือสุดเป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดพระเกตุ คือยอดชัยหลักเมือง รูปแบบการแกะสลักจินตนาการจากความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเคยมีอิทธิพลทางศิลปกรรมในภาคใต้ และนครศรีธรรมราชแต่ครั้งโบราณ ประกอบพิธีเบิกเนตรหลักเมือง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมยอดชัยหลักเมืองเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2530 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมือง ในวันรุ่งขึ้น
นอกจากนี้ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน จะมีการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะปีพุทธศักราช 2528-2530 มีการประกอบพิธีกรรมถึง 12 พิธีกรรม อาทิ พิธีกรรมลอยชะตาเมือง พิธีกรรมสะกดหินหลักเมือง พิธีกรรมปลักยักษ์เทวดาฯ เป็นต้น
จึงนับว่าศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ได้บังเกิดขึ้นด้วยความประณีตบรรจงอย่างมีภูมิหลัง และมีเอกลักษณ์เฉพาะ อีกทั้งจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชาวไทยใต้ในอดีต และสองถึงความพยายามอนุรักษ์สร้างสรรค์ของชาวไทยใต้ปัจจุบันไว้อีกด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น